จากการสันนิษฐาน พระพุทธศาสนานิกายมหายานได้เข้ามาสู่ประเทศลาวในตอนแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 7 (นิกายตันตระ) มีการนับถือผีสาง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจีน เมื่อถึงสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. 1890) เป็นกษัตริย์องค์แรก พระองค์ได้รับเอาพระพุทธศาสนามาจากกัมพูชามานับถือ โดยได้ไปรับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้ากรุงอินทปัตถ์ของขอม (พระเจ้าศรีจุลราช) แล้วได้อภิเษก
สมรสกับพระราชธิดาของพระองค์ คือพระนางแก้วยอดฟ้า ซึ่งนับถือพุทธแบบเถรวาท เมื่อย้ายมาอยู่อาณาจักรล้านช้าง พระนางเห็นชาวเมืองนับถือบูชาลัทธิผีสางเทวดา จึงให้เจ้าฟ้างุ้มไปทูลขอพระสงฆ์ผู้แตกฉานในพระธรรมและพระไตรปิฎกจากกัมพูชามาเผยแผ่ในราชอาณาจักรลาว
พระเจ้ากัมพูชา ได้ทรงส่งพระมหาปาสมัตเถระและพระมหาเทพลังกากับพระสงฆ์อีก 20 รูปและนักปราชญ์ผู้เรียนจบพระไตรปิฎกอีก 3 คน และพระราชทานพระพุทธรูป “พระบาง” และหน่อพระศรีมหาโพธิ์ และช่างหล่อพระพุทธรูปไปมาถวายเจ้าฟ้างุ้มด้วย แต่นั้นมาพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้เจริญอยู่ในประเทศลาว และได้เป็นศาสนาประจำชาติ กษัตริย์ลาวแต่นั้นมาได้ทรงเอาใจใส่ต่อพระพุทธศาสนาสืบต่อกันมา โดยได้สร้างวัดและโรงเรียน หอสมุดเกี่ยวกับการค้นคว้าพระไตรปิฎกหลายแห่ง
ในสมัยรัชกาลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2091 – 2114 ) เป็นกษัตริย์มหาราชองค์ที่ 2 ของลาว พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองสุดขีด พระองค์ได้โปรดให้สร้างศาสนสถานมากมาย เช่น พระธาตุหลวง พระธาตุบังพวน ที่ จ.หนองคาย พระธาตุศรีสองรัก จ. เลย พระธาตุศรีโคตรบูรที่แขวงคำม่วน พระธาตุอิงรัง ที่แขวงสุวรรณเขต วัดพระธาตุ และวัดศรีเมือง จ.หนองคาย และทรงปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม และได้สร้างพระพุทธรูปอีกหลายองค์ เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทน์ พระเจ้าองค์ตื้อ ที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พระเสริม พระสุก และพระใส พระอินทร์แปลง พระอรุณ พระองค์แสน กล่าวได้ว่าศาสนสถานที่ลาวได้สร้างขึ้นในสมัยพระองค์ทั้งนั้น หลังจากรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา พระพุทธศาสนาเป็นไปตามปกติ พ.ศ. 2436 ลาวตกอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส พระพุทธศาสนาก็ตกอยู่ในสถานะที่เสื่อมโทรมไปบ้าง พ.ศ. 2492 ลาวได้รับเอกราช พระพุทธศาสนาจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีก
ประเทศไทยกับลาวมีความสัมพันธ์กัน ประเพณีวัฒนธรรมทางศาสนามีความเหมือนกัน แต่ว่าเหตุการณ์ในประเทศลาวไม่ค่อยมีความสงบสุข พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้รับการนับถือ แต่ว่าคนลาวก็ไม่ทิ้งพระพุทธศาสนา ฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น